จุฬาลงกรณ์ร่วมกับกรมป่าไม้ นำแก้วกระดาษย่อยสลายได้ที่ใช้แล้วจากโรงอาหาร หรือ แก้ว Zero waste cup ที่ผ่านการใช้แล้ว มาใช้แทนถุงเพาะชำอย่างเป็นทางการ
นี่คือหนึ่งในมาตรการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ โดยขอให้ร้านค้าในโรงอาหารเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกเดิมเป็นแก้วใช้ล้างซ้ำได้หรือ zero-waste cup ซึ่งเป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ในสภาวะปุ๋ยหมักด้วยเวลาเพียง 4-6 เดือน ซึ่งย่อยสลายได้เร็วกว่าแก้วกระดาษทั่วไป
สำหรับ พลาสติกชีวภาพที่เคลือบด้านในเป็นประเภท PBS ได้มาตรฐานปุ๋ยหมักระดับครัวเรือน(ในอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส) ซึ่งผลิตจากพืชระยะสั้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด
ส่วนลายพิมพ์ ใช้หมึกพิมพ์น้ำมันถั่วเหลือง (Soy Ink) ไม่เหลือสารเคมีตกค้าง
แก้วกว่ากว่า 1 แสนใบที่ชาวจุฬาฯ ใช้กันโดยเฉลี่ยใน 1 ปี จะไม่เหลือสิ่งตกค้างในธรรมชาติแน่นอน เพราะมีถังขยะแยกเฉพาะแก้ว zero-waste และจะถูกลำเลียงส่งไปทำปุ๋ยหมักที่จังหวัดสระบุรี ปุ๋ยที่ได้ไม่ได้ไปไหนเมื่อเวลาผ่านไปปุ๋ยจากแก้วที่ย่อยหมดจด ณ สระบุรีก็จะวกกลับมาเมืองกรุงบำรุงต้นไม้ในจุฬาฯ
แต่เท่านั้นยังไม่พอ แก้ว zero-waste ยังสามารถนำไปใช้ซ้ำแทนถุงเพาะชำต้นไม้ได้ด้วย ประเภทต้นไม้ที่เหมาะจะใช้คือการเพาะต้นอ่อนที่ใช้ระยะเวลา 7-14 วัน ก่อนจะย้ายเอาต้นกล้าไปปลูกลงดินเพราะแก้ว zero-waste ย่อยไวมากถ้าโดนน้ำมากหรือวางไว้กับดิน เช่นต้นอ่อนทานตะวันหรือต้นอ่อนถั่วลันเตา(โต๋วเหมี่ยว) แน่นอนว่าสามารถลงดินได้ทั้งแก้วแถมเมื่อถึงเวลาย่อยสลายแล้วก็ยังเป็นสารปรับปรุงดินไปในตัวด้วย
Comments